ss มารู้จักกับ กราฟิกดีไซน์ กันดีกว่า | JIPATA INDEX นานาสาระน่ารู้

มารู้จักกับ กราฟิกดีไซน์ กันดีกว่า

กราฟิกดีไซน์

กราฟิกดีไซน์ คือการออกแบบรูปภาพสัญลักษณ์ที่มองเห็นด้วยตา (เป็นทัศนศิลป์อย่างหนึ่ง) และมีหน้าที่สื่อความหมายจากสัญลักษณ์สู่ความหมาย คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่ากราฟิกดีไซน์เป็นงานที่ทำด้วยคอมพิวเตอร์หรือเป็นการสร้างแอนิเมชันสามมิติ ซึ่งในความเป็นจริง คอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ช่วยในการสร้างงานกราฟิกดีไซน์ได้ เช่นเดียวกับ ดินสอ ปากกา พู่กัน

          กราฟิกดีไซน์ เป็นการทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ graphic design คำว่า graphic มีคำในภาษาไทยที่ใช้แทนได้คือ เรขศิลป์เลขนศิลป์ หรือ เรขภาพ ส่วน design แปลว่า การออกแบบ เมื่อรวมกันแล้ว กราฟิกดีไซน์จึงมีหมายความว่า การออกแบบเรขศิลป์ หรือ การออกแบบเลขนศิลป์

กราฟิกดีไซน์ในรูปแบบต่างๆ

  • สัญญาณป้ายจราจร
  • ภาพวาดผนังถ้ำ
  • ฟอนต์
  • ปกหนังสือ
  • ลวดลายบนเครื่องเบญจรงค์
          การออกแบบเรขศิลป์ หรือ กราฟิกดีไซน์ (Graphic Design) ในปัจจุบันมีความหมายและรูปแบบที่กว้างขวางจนยากแก่การจำกัดความให้แน่นอนและชัดเจนได้อาจเพราะความหลากหลายในบทบาทหน้าที่ของมัน  งานออกแบบกราฟิกนับได้ว่าเป็นแขนงหนึ่งของศิลปะที่มีความสากลที่สุดก็ว่าได้ด้วยเหตุผลที่งานออกแบบเหล่านี้รายล้อมอยู่รอบตัวเรา บ้างทำหน้าที่คอยอธิบายให้เราเข้าใจในสิงต่างๆ เช่น เราสามารถประกอบตู้หรือชั้นวางรองเท้าที่ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าได้ด้วยตนเองจากภาพประกอบที่แสดงวิธีการประกอบที่เข้าใจได้ง่าย / บ้างประดับประดาสิ่งต่างๆ ให้สวยงามปละน่าประทับใจเช่น กระดาษห่อของขวัญที่มีลวดลายสวยงามทำให้สิ่งที่เราปรารถนาจะมอบให้ใครคนหนึ่งมีคุณค่าและแสดงถึงความตั้งใจในการมอบให้ / บ้างระบุ แยกแยะหรือชี้ชัดให้เราสามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ เช่น การที่เราสามารถใช้พื้นที่ต่างๆในอาคารสาธารณะอย่างสนามบินได้อย่างถูกต้อง แม้กระทั่งในต่างประเทศที่ซึ่งเราไม่สามารถเข้าใจภาษานั้นได้ ป้ายสัญลักษณ์ในสนามบินทำให้ เรารู้ว่าห้องน้ำไปทางไหน หรือจะไปรับกระเป๋าสัมภาระได้บริเวณใด เป็นต้นในแทบทุกที่ที่เราอยู่หรือไป ในแทบทุกสิ่งที่เราเห็นหรืออ่านไม่ว่าจะเป็นป้ายจราจรตามท้องถนนหนทาง สัญลักษณ์หรือโลโก้ต่างๆหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง แผงยาแก้หวัด ขวดน้ำดื่มซองขนม ตั๋วรถไฟฟ้า ฯลฯ งานออกแบบกราฟิกล้วนแล้วแต่มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันไป

          Allen Hurburt ได้จำแนกหน้าที่หลักๆของงานออกแบบกราฟิกไว้ในหนังสือ The Design Concept โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
          1. เพื่อการบอกเล่าเรื่องราวหรือให้รายละเอียดสิ่งต่างๆ ( to inform )
          2. เพื่อแสดงถึงหรือชี้ชัดอัตลักษณ์ของบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ( to identify )
          3. เพื่อการโน้มน้าวหรือชักจูง ( to persuade )
          
ประกอบกับหน้าที่ที่ต่างย่อยออกมาอีกมากมายในปัจจุบันทำให้สามารถกล่าวได้ว่างานออกแบบกราฟิกนั้นมีคุณค่ามีความสำคัญต่อผู้คนและสังคมมากกว่าคุณค่าด้านความงามแต่เพียงอย่างเดียว

“ทุกคนล้วนเป็นนักออกแบบ”
          ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือผมก็ล้วนมีโอกาสในการสร้างงานออกแบบ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ /ไม่ว่าจะมีทักษะหลักการหรือไม่ / มีจุดมุ่งหมายที่ดีและเหมาะสมหรือไม่เราจะเห็นกิจกรรมทางการออกแบบที่นอกเหนือกิจกรรมทางวิชาชีพ (ที่ถูกทำโดยนักออกแบบ)เกิดขึ้นอยู่รอบๆตัวเราเสมอ เช่น การเขียนป้ายรายการอาหารตามร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านอาหารตามสั่งที่ถูกทำขึ้นเองโดยเจ้าของร้าน การทำประกาศภายในบริษัทโดยพนักงานธุรการใบปลิวขายสินค้าหรือบริการต่างๆ ตลอดจนข้อความหรือลวดลายที่ถูกพ่นอยู่ตามกำแพงทั่วไป

          จากตัวอย่างที่กล่าวมาล้วนแสดงให้เห็นถึงความแพร่หลายและผูกพันของงานออกแบบกราฟิกที่มีต่อผู้คนทั่วไป แต่กระนั้นก็ยังมีการแบ่งแยกงานออกแบบจากการประเมินคุณค่าด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในหมูนักออกแบบ

          หลักเกณฑ์ที่ว่าอาจจะมาจากรสนิยมที่สังคม (นักออกแบบยอมรับ) ทฤษฏีหรือหลักการออกแบบที่ได้รับแนวคิดมาจากตะวันตก กระแสนิยมของแนวคิดและรูปแบบต่างๆในการออกแบบความร่วมสมัยของงานออกแบบ เทคโนโลยีและระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดมาตรฐานของผลงานออกแบบ แต่หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ว่านั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีผลต่อกิกรรมทางการออกแบบของผู้คนทั่วไปมากนัก เรายังพบเห็นงานออกแบบที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานดังกล่าวอยู่เสมอ และความจำเป็นทางการสื่อสารในชีวิตประจำวันก็ดูจะมีอิทธิพลต่อการเกิดกิจกรรมทางการออกแบบของผู้คนทั่วไป

แน่นอน ทุกๆ คนล้วนออกแบบได้ เช่นเดียวกันกับทุกๆ คนล้วนร้องเพลงได้
แต่… อาชีพนักออกแบบหรือนักร้องก็ไม่ได้เป็นกันได้ทุกคน
ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นภาระอย่างหนึ่งของนักออกแบบว่าจะทำอย่างไร
ให้เห็นความแตกต่างระหว่างงานออกแบบมืออาชีพ (โดยนักออกแบบ)
กับงานออกแบบทั่วไปในชีวิตประจำวัน (โดยคนทั่วไปหรือสมัครเล่น)

          ลองมองไปในรายละเอียดกันอีกที “ไม่มีแบบตัวอักษรที่แย่ “ ข้อความของ Eric Spiekermann จากหนังสือ Stop Stealing Sheep & Find Out How Type Work ทำให้เราสามารถตั้งคำถามต่อการประเมินคุณค่าของรูปแบบงานเรขศิลป์ ที่นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าไม่มีรูปแบบใดที่มีความสมบูรณ์อย่างแท้จริงและไม่มีรูปแบบใดที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง

          จากแนวคิดลักษณะนี้แสดงให้เห้นถึงการให้ความสำคัญต่อบริบทในการนำไปใช้มากกว่าจะให้ความสำคัญไปที่รูปแบบเดี่ยวๆ ที่เปรียบเสมือนวัตถุดิบทางการออกแบบในแง่นี้ตัวหนังสือที่ได้จากการเขียนด้วยลายมือ จะถูกจัดให้มีคุณภาพและความสำคัญเทียบเท่ากับตัวเรียงพิมพ์หรือแบบอักษรในคอมพิวเตอร์ ดังนั้นคุณค่าอาถูกประเมินได้จากบริบททางการสื่อสารมากกว่าจะพิจารณาเพียงแค่ว่า ตัวเรียงพิมพ์หรือตัวอักษรในคอมพิวเตอร์มีหลักการออกแบบและมาตรฐานในการประดิษฐ์ตัวอักษรมากกว่าลายมือ

          ไม่ว่าในยุคสมัยใด ก็ยังคงมีการประเมินคุณค่าของรูปแบบงานออกแบบกราฟิกด้วยมุมมองและหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันความคลุมเครือของคุณค่าของงานออกแบบกราฟิกก็ดูจะมีมากขึ้นด้วย บริบทเข้ามามีบทบาทในการกำหนดคุณค่า ขณะที่การประเมินคุณค่าก็อาศัยบริบทเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณามากขึ้น

          มีนักออกแบบจำนวนไม่น้อย ที่จงใจหยิบยืมรูปแบบที่ถูกประเมินคุณค่าในเชิงลบนำมาใช้ในการออกแบบของตน เช่น รูปแบบที่ถูกประเมินว่าไม่มีรสนิยมไม่ร่วมสมัย (เชย)หรือ ไม่มีหลักการออกแบบหรือมาตรฐานการผลิต บางคนนำรูปแบบเหล่านี้มาลอกเลียนในลักษณะที่จงใจ ด้วยวัตถุประสงค์ทางการออกแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งแนวทางเหล่านี้จัดได้ว่าเป็นการทำลายกำแพงทางการประเมินคุณค่า และก่อให้เกิดความไม่แน่นอนตายตัวในการตัดสินคุณค่าของรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อันนำไปสู่การเปิดกว้างมากขึ้นในงานออกแบบ

          ดังนั้น ถ้างานออกแบบกราฟิกมีคุณค่าต่อการดำรงอยู่ของผู้คนและสังคมอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทุกๆคนในสังคมก็ควรตระหนักถึงความสำคัญนั้น โดยเฉพาะตัวนักออกแบบเองที่มีภารกิจที่มีความสำคัญเกินกว่าจะผลิตงานออกแบบไปโดยมองความสำเร็จด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว นอกเหนือจากความสำเร็จเชิงรูปแบบที่มีความน่าสนใจและมีสุนทรียภาพความสำเร็จด้ายความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่และเฉียบคมและความสำเร็จที่บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว เราอาจจำเป็นจะต้องพิจารณาผลงานของเราด้วยว่างานออกแบบของเรานั้นไม่ได้ทำร้ายใครไม่เป็นมลภาวะหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลและส่วนรวม

ถ้าจะให้บอกว่ากราฟิกดีไซน์คืออะไร ก็อาจจะต้องขออุปมาว่า
"การออกแบบกราฟฟิก ก็อาจเปรียบได้กับการพูดจาที่มีน้ำเสียงน่าฟัง
มีลีลาอันน่าติดตาม มีลำดับเนื้อหาเป็นที่เข้าใจ ใช้ภาษาได้เหมาะสมกับผู้ฟัง
และที่สำคัญ…ย่อมไม่ใช่การพูดโกหกบิดเบือนจนดำกลายเป็นขาว"

บทความโดย สันติ ลอรัชวี

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ