ss สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง | JIPATA INDEX นานาสาระน่ารู้

สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง

คำว่าทรัพย์เฉพาะสิ่งนี้ แม้จะมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 วรรคสอง แต่ก็มิได้มีบทนิยามหรือคำอธิบายความหมายไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ประการใดไม่ ผิดกับกฎมหายของอังกฤษคือ The Sale of Goods Act, 1893. ซึ่งมีบทนิยามของทรัพย์เฉพาะสิ่งไว้ในมาตรา 62 ว่า หมายถึง ทรัพย์ที่ได้บ่งตัวทรัพย์และซึ่งได้ตกลงกันไว้ในขณะทำสัญญาซื้อขาย (goods dentified and agreed upon at the time a contract of sale a made)


แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบทนิยามไว้เช่นนั้น ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับคำว่าบ่งตัวทรัพย์ (identified) ว่าจะต้องเป็นการบ่งแน่นอนเพียงใด ในคดี Kwsell v. Timber Operators & Contractors, Ltd; โจทก์ขายต้นไม้ในป่าแห่งหนึ่งให้จำเลย โดยจะต้องทำการวัดกันเสียก่อน จำเลยมีสิทธิที่จะตัดและขนไม้ไปได้ภายใน 15 ปี ต่อมามีกฎหมายออกมาให้ป่าไม้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษตัดสินว่า กรรมสิทธิ์ในต้นไม้ยังไม่โอนเป็นของจำเลย เพราะยังถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่บ่งตัวทรัพย์ไว้แน่นอน เนื่องจากว่าสัญญาซื้อขายระบุขายเฉพาะต้นไม้ที่จะได้วัดกันแล้วเท่านั้น มิได้ตกลงขายเหมาต้นไม้ทั้งหมด

        เมื่อกฎหมายไทยมิได้มีบทนิยามเช่นนี้ คำว่าทรัพย์เฉพาะสิ่งจึงต้องมีความหมายอย่างเช่นคนธรรมดาสามัญเข้าใจกัน คือหมายถึงทรัพย์ที่ระบุเจาะจงลงไปว่าเป็นทรัพย์อะไร เช่น รถยนต์ ทรัพย์สิ่งใด เช่น รถยนต์คันไหน และทรัพย์จำนวนเท่าใด เช่น รถยนต์คันนั้น 1 คัน เป็นต้น หากระบุแต่เพียงรถยนต์ 1 คันเท่านั้น โดยไม่รู้ว่าเป็นรถยนต์คันไหน รถยนต์ 1 คันนั้น หาใช้ทรัพย์เฉพาะสิ่งไม่ เพราะยังกำหนดมิได้ว่าเป็นรถยนต์คันใด หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทรัพย์เฉพาะสิ่งหมายถึง ทรัพย์ที่ผู้ซื้อรู้ได้แน่นอนว่าเป็นทรัพย์ใดที่ตนตกลงซื้อ และผู้ขายก็รู้ได้แน่นอนว่าเป็นทรัพย์ใดที่ตนตกลงขาย หากยังไม่สามารถรู้ได้ในขณะทำสัญญาซื้อขายว่าทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายกันนั้น คือทรัพย์ใดแล้ว หาใช่เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งไม่ เช่น ซื้อโค 2 ตัว จากโค 1 ฝูง ที่ผู้ขายมีอยู่มิใช่เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่ถ้าตกลงกันในขณะซื้อขายว่า ซื้อโค 2 ตัวสีใด ลักษณะรูปร่างอย่างไร หรือเป็นตัวใด ดังนี้เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว

        การซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน”

        ตามบทบัญญัติมาตรา 458 นี้ แม้จะมิได้กล่าวว่าทรัพย์สินที่ขายนั้น จะต้องเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งก็ตาม แต่มาตรานี้ ย่อมจะต้องหมายถึงการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง เพราะหากเป็นการซื้อขายทรัพย์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน หรือมิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้ต่างหากอีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 460 วรรคแรก และมาตรา 458 นี้ก็ยังหมายถึง ทรัพย์เฉพาะสิ่งที่กำหนดราคา หรือรู้ราคาไว้แน่นอนแล้วในขณะทำสัญญาซื้อขายแล้วเท่านั้น หากเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกี่ยวแต่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้ราคาทรัพย์สินแน่นอนก็มีบัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 460

        คำว่า “ทำสัญญาซื้อขาย” ในมาตรา 458 นี้ หมายถึง “ทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 455 นั่นเอง เพราะมาตรา 455 บัญญัติว่า “เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่า เวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์” และคำว่า “ทำสัญญาซื้อขาย” ในมาตรา 458 นี้ยังหมายถึงว่าต้องมิใช่เป็นการทำสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ เพราะสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ได้มีมาตรา 458 บัญญัติไว้แล้ว

        อย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือที่นักฎหมายนิยมเรียกว่า “สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” นั้น พระยาวิฑูรธรรมพิเนตุได้อธิบายไว้ในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะซื้อขายทรัพย์ ฯลฯ หน้า 11 – 16 ว่า “สัญญาซื้อขายเด็ดขาดนั้นเป็นการซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเปลี่ยนมือ หรือโอนมายังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาด เมื่อการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ การซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์เมื่อใดนั้น นอกจากการตกลงแล้ว ต้องพิเคราะห์ถึงแบบแห่งสัญญาด้วย ถ้าการซื้อขายทรัพย์สินชนิดที่กฎหมายต้องการให้มีแบบแล้วต้องทำตามแบบ ฯลฯ” พระมนูธรรมวิมลศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในคำสอนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หน้า 3 ว่า “สัญญาซื้อขายตามมาตรานี้ (มาตรา 453) หมายความเฉพาะแต่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ซึ่งมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายแล้ว หากกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนมีเพียงข้อตกลงว่าจะโอนก็เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย หรือเมื่อมีข้อตกลงว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อจนกว่าการ จะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดตามเงื่อนเวลาก็ไม่เป็นซื้อขายโดยเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการซื้อขายโดยมีเงื่อนไข (คือเงื่อนไขบังคับก่อน) หรือเงื่อนเวลา

        ตามกฎหมายอังกฤษคือ The Sale of Goods Act, 1893 มาตรา 1 (1) ให้ความหมายของสัญญาซื้อขาย (a contract of sale) ว่า “สัญญาซึ่งผู้ขายโอนหรือตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อสินจ้างเป็นเงินที่เรียกว่า ราคา”และมาตรา 1 (3) บัญญัติว่า “ตาม สัญญาซื้อขาย หากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ สัญญานั้นเรียกว่าสัญญาซื้อขาย (a sale) แต่ถ้ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปในภายหน้า หรือจะโอนไปเมื่อเงื่อนไขบางอย่างได้สำเร็จแล้ว สัญญานั้นเรียกว่าสัญญาจะซื้อขาย (an agreement to sell)”

        ความจริงสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น หาจำเป็นจะต้องผูกมัดอยู่กับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายเสมอไปไม่ สัญญาซื้อขายอาจสำเร็จบริบูรณ์ หรือเสร็จเด็ดขาดได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องโอนไปยังผู้ซื้อ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1236/2497 ซึ่งวินิจฉัยว่า การตกลงซื้อขายโต๊ะบิลเลียด เป็นทรัพย์ที่แน่นอนมิได้มีกฎหมายห้ามมิให้โอนกันได้เอง แม้จะมีข้อตกลงกันมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น จึงน่าจะมีความหมายถึงสัญญาซื้อขายซึ่งมิใช่สัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น ฉะนั้นสัญญาซื้อขายใดที่มิใช่สัญญาจะซื้อขายแล้ว ย่อมเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทั้งสิ้น แต่เนื่องจากสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นสัญญาที่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปเป็นของ ผู้ซื้อ หรือเป็นสัญญาที่จะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้ในภายหลัง ฉะนั้นสัญญาซื้อขายใดที่ตกลงให้กรรมสิทธิ์ตกไปเป็นของผู้ซื้อทันที สัญญาซื้อขายนั้นย่อมเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์หรือสัญญาซื้อขายเสร็จ เด็ดขาดโดยไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความในทางกลับกันว่า สัญญาซื้อขายที่ตกลงมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อในขณะทำสัญญา จะต้องเป็นสัญญาจะซื้อขายเสมอไป เพราะอาจเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 459 ก็ได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตาม เงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้นแล้ว ฉะนั้นที่มาตรา 458 บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อทำ สัญญาซื้อขายนั้น จึงใช้บังคับเฉพาะเมื่อเป็นการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาอย่างใดกำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น และใช้บังคับเฉพาะการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งที่กำหนดราคาหรือทราบราคาแน่นอน แล้วในขณะทำสัญญา
        

ที่มาจาก : panyathai.or.th

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ